วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันอ้วนโลก (World Obesity Day)’ ข้อมูลจากสมาพันธ์โรคอ้วนโลกระบุว่า มีประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกกว่า 988 ล้านคนกำลังมีปัญหาโรคอ้วน และคาดการณ์ว่าในปี 2578 จะมีประชากรกว่า 1.9 พันล้านคน มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
ส่วนประเทศไทย ข้อมูลผลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายล่าสุด (ปี 2562-2563) โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขพบว่า ผู้หญิงไทยร้อยละ 46.4 และผู้ชายไทยร้อยละ 37.8 มีภาวะอ้วนหรือมีค่า BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
ขณะที่ผู้ชายไทยร้อยละ 27.7 และร้อยละ 50.4 ในหญิงไทยมีภาวะอ้วนลงพุง หรือมีรอบเอวตั้งแต่ 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ขึ้นไปสำหรับผู้หญิง และตั้งแต่ 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ขึ้นไปสำหรับผู้ชาย นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้หญิงในกรุงเทพมหานครมีความชุกภาวะอ้วนลงพุงสูงสุด
“โรคอ้วน” เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไปจนส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดความผิดปกติทางเมตาบอลิก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เพิ่มการอักเสบในร่างกาย
ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง
โดยประเด็นรณรงค์ คือ Changing Systems, Healthier Lives: ระบบดี สุขภาพดี มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพ รวมทั้งชุมชนปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการป้องกันและจัดการโรคอ้วน เพราะโรคอ้วนไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล ถ้าหากมีระบบสนับสนุนสุขภาพที่ดี
-
“โรคอ้วน” กระทบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ
นพ.ชเนษฎ์ ศรีสุโข โรงพยาบาลศรีสุโข จังหวัดพิจิตร และผู้ก่อตั้งมาลิคลินิกเวชกรรม สีลม กล่าวว่า โรคอ้วนไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล แต่ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างมาก นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุข ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องอย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งมีมูลค่ามหาศาล
โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ คนที่เป็นโรคอ้วนยังถูกวินิจฉัยและได้รับการรักษาไม่เพียงพอ เพราะจากสถิติจากวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า จากจำนวนคนที่เผชิญกับโรคอ้วนทั้งหมดนั้น มีประมาณร้อยละ 40 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน และมีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับการรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีที่มีข้อมูลศึกษาชัดเจน และมีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่ได้รับยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคอ้วน
-
ปรับทัศนคติ พฤติกรรม เฝ้าระวัง’ภาวะก่อนอ้วน’
แนวทางแก้ปัญหาโรคอ้วนในระยะยาว ประชาชนควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับโรคนี้ เนื่องจากล่าสุดมีการกำหนดนิยามโรคอ้วน และประเภทของโรคอ้วนทางการแพทย์ใหม่ โดยเน้นความสำคัญของ ‘Preclinical Obesity’ หรือภาวะก่อนเป็นโรคอ้วน ซึ่งควรได้รับการรักษา เช่น คนที่มีภาวะเนื้อเยื่อไขมันมากเกินไป (Excess Adiposity) แต่อวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานได้ปกติ
-
อย่าประเมินสุขภาพเพียงค่า BMI
การวินิจฉัยภาวะอ้วนรายบุคคลควรใช้เครื่องมือที่วัดสัดส่วนของไขมันในร่างกายเทียบกับน้ำหนักตัว (Body Fat) ที่ช่วยให้รู้รายละเอียดของมวลกล้ามเนื้อหรือมวลไขมันในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น หรือหากไม่สามารถวัด Body Fat ได้ ก็อาจเลือกใช้วิธีวัดสัดส่วนของร่างกาย เช่น การวัดเส้นรอบเอว สำหรับผู้ชายถ้ามากกว่า 36 นิ้ว ถือว่าอ้วนลงพุง ส่วนผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้ว นอกจากนี้ สามารถใช้การวัดเส้นรอบเอว (เมตร) หารด้วยเส้นรอบสะโพกที่ยาวที่สุด โดยผู้ชายถ้าเกิน 1.0 และผู้หญิงถ้าเกิน 0.8 ถือว่า อ้วนลงพุง
นพ.ชเนษฎ์ กล่าวว่า นอกจากกังวลเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกที่เกิดจากภาวะอ้วนแล้ว คนเราควรต้องตระหนักถึงโรคอื่น ๆ ที่พ่วงมากับความอ้วนด้วย เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกมหาศาลสำหรับโรคเรื้อรัง
-
เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง แนวโน้มเป็นโรคอ้วน
กลุ่มคนที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะมีพฤติกรรม
1.ไม่ออกกำลังกาย
2.รับประทานอาหารไม่ดี เช่น มีน้ำตาลสูงเกินไป และรับประทานผัก ผลไม้ที่มีไฟเนอร์น้อยเกินไป
3.พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่หลับ
4.คนที่ติดหน้าจออุปกรณ์มือถือตลอดเวลา
5.มีความเครียดและมีปัญหาโรคทางจิตใจ
6.กลุ่มคนที่ได้รับยาบางประเภท เช่น ยาสเตียรอยด์, ยาคุมประเภทฮอร์โมนเดียวแบบโปรเจสเตอโรน, ยากันชัก, ยาเบาหวานและความดันบางชนิด และคนที่มียีนโรคอ้วน
-
ออกมาตรการ ป้องกันควบคุมโรคอ้วน
ด้าน นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อได้ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติโรคไม่ติดต่อร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อผลักดันระบบการส่งเสริมสุขภาพและสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนโดยใช้มาตรการทางกฎหมายให้เอื้อต่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ
สนับสนุนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม มาตรการภาษีเกลือและโซเดียม ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและควบคุมการตลาดโฆษณาอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง โซเดียมสูง รวมทั้งสร้างความรอบรู้สุขภาพให้กับประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคอ้วน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะช่วยลดอัตราการสูญเสียของประชาชน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ
-
เลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรคอ้วนได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ได้แก่ เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มผัก ผลไม้ ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มกิจกรรมทางกายโดยออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือสะสม 150 นาทีต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานด้วยการนับคาร์บหรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกข้าว แป้ง และน้ำตาล นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามสุขภาพของตนเองและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคอ้วนได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
-
จุฬาฯ จัดกิจกรรม ‘วันอ้วนโลก’
ขณะที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัด “งานวันอ้วนโลกWorld Obesity Day 2025” วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2568 ณ ชั้น 9 อาคาร SiamScape ที่ผ่านมา โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จากนั้น รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำคัญของ World Obesity Day
งาน“วันอ้วนโลก World Obesity Day 2025” จัดขึ้นภายใต้ธีม “Changing Systems, Healthier Lives” เพราะสุขภาพที่ดี ไม่ได้เริ่มจากตัวเราเพียงคนเดียว แต่ต้องเกิดจากระบบที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ งานในครั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับคณะสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ
-
- Exclusive TALK โดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คุณบิ๊กเอ็ม กฤตฤทธิ์ บุตรพรม ร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพและปรับไลฟ์สไตล์เพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จากอดีตเด็กอ้วนสู่เส้นทางนักแสดงในปัจจุบัน
- การเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญสหสาขา เปิดมุมมองเรื่องผลกระทบของโรคอ้วนต่อระบบเศรษฐกิจ เมือง และสุขภาพจิต เจาะลึกแนวทางการ “เปลี่ยนระบบ” ให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตสุขภาพดี
- การเสวนาหัวข้อ “การดูแลตนเองของผู้เป็นโรคอ้วน” “สุขภาพจิตกับการลดน้ำหนัก” “การออกกำลังกายในผู้เป็นโรคอ้วน” “การกินที่ดีต่อสุขภาพในผู้เป็นโรคอ้วน”
- สำรวจความจริงที่ซ่อนอยู่ ผ่านนิทรรศการ The Tunnel of Obesity: อุโมงค์ที่พาคุณเข้าใจความซับซ้อนของโรคอ้วน ทั้งสาเหตุ ผลกระทบ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต และเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวในอุโมงค์ “กับดักเมืองคนอ้วน” Tower of Awareness: หอคอย LED ที่นำเสนอข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรคอ้วน และประสบการณ์จริงจากผู้ป่วย รวมถึงแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลง #อ้วนแล้วเปลี่ยน
- กิจกรรม Healthy Tree: เขียนคำสัญญาเล็กๆ ให้ตัวเอง เพื่อเริ่มต้นเส้นทางสู่เส้นทางสุขภาพที่ดี “1 สิ่งที่เริ่มทำได้ทันที ไม่รอผอมตอนกี่โมง” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันโรคอ้วนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด คือ การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงมีสุขอนามัยที่ดี การรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้คุณค่าทางอาหารสูง แต่ให้พลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งการวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำหนักเกิน ช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในช่องท้องและใต้ผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มากับโรคอ้วนได้อีกด้วย